Nuremberg Rallies

การชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์ก

​​​​​     การชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์กซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า การประชุมใหญ่พรรคแห่งชาติของประชาชนเยอรมัน (Reichsparteitag des deutschen Volkes - National Party Congress of the German People) เป็นการชุมนุมมวลชนประจำปีของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party - NSDAP; Nazi Party)* ระหว่างต้นทศวรรษ ๑๙๒๐ - ค.ศ. ๑๙๓๘ การชุมนุมที่ เมืองนูเรมเบิร์กหรือเนือร์นแบร์ก (Nürnberg) มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้สาธารณชนทั้งในเยอรมนีและในประเทศยุโรปเห็นพลังอำนาจและความเข้มแข็งของลัทธินาซีรวมทั้งการแสดงออกของมวลชนในศรัทธาและความเชื่อมั่นที่มีต่อฟือเรอร์ (Führer)* หรือผู้นำประเทศ ตลอดจนปลุกระดมความรักชาติเพื่อโน้มน้าวจูงใจประชาชนให้สนับสนุนร่วมมือกับพรรคนาซี การชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์กที่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อครั้งสำคัญของรัฐจัดขึ้นเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๓๓ หลังจากที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๔๕)* ก้าวสู่อำนาจทางการเมือง โดยใช้การโหมประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบที่ชี้นำมวลชนให้เห็นว่าลัทธินาซีคือศาสนาและสร้างศรัทธาความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่าฮิตเลอร์คือผู้ปลดปล่อยประเทศ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๓-๑๙๓๘ การชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์กแต่ละปีจะมีชื่อเรียกเฉพาะที่สอดคล้องกับเหตุการณ์สำคัญของชาติ เช่น การชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์ก ค.ศ. ๑๙๓๓ มีชื่อเรียกว่า "การชุมนุมแห่งชัยชนะ" (Rally of Victory) ซึ่งหมายถึงการยึดอำนาจของพรรคนาซีและชัยชนะต่อสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)*
     การจัดชุมนุมครั้งแรกของพรรคนาซีมีขึ้นที่เมืองมิวนิก (Munich) ในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๓ โดยมีสมาชิกพรรคและมวลชนเข้าร่วมประมาณ ๒,๐๐๐ คน วัตถุประสงค์สำคัญของการประชุมคือการระดมสมาชิกพรรคและมวลชนที่สนับสนุนพรรคให้เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของกุสทาฟ ชเตรเซมันน์ (Gustav Stresemann)* นายกรัฐมนตรีและการทำลายข้อกำหนดต่าง ๆ ในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles ค.ศ. ๑๙๑๙)* ในการชุมนุมครั้งนี้กองกำลังอิสระ (Free Corps)* ที่สนับสนุนพรรคนาซีได้จัดการเดินขบวนสวนสนามซึ่งในเวลาต่อมาการเดินสวนสนามกลายเป็นแนวปฏิบัติส่วนหนึ่งของงานชุมนุม นอกจากนี้มีการจัดพิธีสถาปนาธงให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย ธงที่สถาปนาเป็นธงพรรคมีพื้นสีแดงซึ่งหมายถึงเลือดและมีวงกลมสีขาวที่มีเครื่องหมายสวัสดิกะสีดำ (Hakenkreuz-swastika) อยู่ตรงกลางซึ่งหมายถึงความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติที่แสดงถึงชัยชนะของชนชาติอารยันเหนือพวกยิวและพวกคอมมิวนิสต์


     ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ มีการจัดชุมนุมพรรคนาซีครั้งที่ ๒ ขึ้นที่ เมืองนูเรมเบิร์ก ยูลีอุส ชไตรเชอร์ (Julius Streicher)* นักทฤษฎีพรรคซึ่งมี ความคิดต่อต้านชาวยิว (Anti-Semiticism)* เสนอให้ฮิตเลอร์จัดการชุมนุมขึ้นที่เมืองนูเรมเบิร์กเนื่องจากมีชัยภูมิที่ดีเพราะตั้งอยู่ในใจกลางเยอรมนีและห่างจาก นครมิวนิกทางตะวันตกเฉียงเหนือและทางเหนือเพียง ๑๔๐ กว่ากิโลเมตร ทั้งมีเส้นทางการคมนาคมที่สะดวกและเข้าถึงได้ง่ายจากทุกส่วนของประเทศ นอกจากนี้นูเรมเบิร์กยังมีตึกรามบ้านเรือนตามแบบสถาปัตยกรรมกอทิก (Gothic) ในสมัยกลางซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของพรรคในการจะฟื้นคืนความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* เพราะนูเรมเบิร์กเคยเป็นทั้งเมืองแห่งจักรวรรดิ (imperial town) แห่งแรกใน จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* และเป็นสถานที่จัดประชุมรัฐสภาแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ด้วย ขณะเดียวกันหน่วยตำรวจของนูเรมเบิร์กก็โน้มเอียงสนับสนุนพรรคนาซี นูเรมเบิร์กจึงเป็นสถานที่เหมาะสมกับการจัดชุมนุม ฮิตเลอร์เห็นด้วยกับชไตรเชอร์อย่างมาก ในการชุมนุมครั้งแรกที่นูเรมเบิร์กเขาและนายพลเอริช ลูเดนดอร์ฟ (Eric Ludendorff)* ได้กล่าวคำไว้อาลัยแก่เหล่าทหารเยอรมันที่พลีชีวิตในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* และเน้นเรื่อง "การลอบแทงข้างหลัง" (stab-in-the back) ซึ่งประชาชนถูกรัฐบาลหลอกให้ยอมรับความพ่ายแพ้สงคราม ในการประชุมครั้งนี้มีการเดินสวนสนามขององค์กรต่าง ๆ ของพรรคนาซี ซึ่งรวมทั้งกลุ่มประชาชนใน แคว้นบาวาเรียและหน่วยเอสเอ (SA-Sturmabteilung)* ด้วย และฮิตเลอร์ต้องกล่าวสุนทรพจน์ซ้ำกันถึง ๔ ครั้งให้แก่มวลชนที่ร่วมชุมนุมจำนวน ๘,๐๐๐ คนซึ่งแบ่งกันเป็น ๔ กลุ่ม
     หลังการชุมนุมในเดือนสิงหาคม ฮิตเลอร์ซึ่งวางแผนยึดอำนาจทางการเมืองได้ใช้เงื่อนไขที่พวกคอมมิวนิสต์ก่อการจลาจลขึ้นที่แซกโซนีและทูรินเจีย (Thuringia) เคลื่อนกำลังเข้ากรุงเบอร์ลินโดยก่อกบฏขึ้นระหว่างวันที่ ๘-๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๓ แต่การก่อกบฏที่เรียกกันว่า กบฏโรงเบียร์ (Beer Hall Putsch)* หรือกบฏที่เมืองมิวนิก (Munich Putsch)* ประสบกับความล้มเหลว ฮิตเลอร์ถูกตัดสินจำคุก ๕ ปี และพรรคนาซีถูกยุบ อย่างไรก็ตาม เมื่อฮิตเลอร์พ้นโทษก่อนกำหนดในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ เขาเร่งสร้างพรรคนาซี ขึ้นใหม่อีกครั้งโดยรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ผู้นำและมีกลไกบริหารที่มีประสิทธิภาพ แต่การที่ฮิตเลอร์ถูกห้ามกล่าวปราศรัยในที่สาธารณะตามเมืองต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งเมืองนูเรมเบิร์ก การจัดชุมนุมของพรรคนาซีครั้งที่ ๓ จึงจัดขึ้นอย่างลับ ๆ ที่เมืองไวมาร์ (Weimar) เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม และสิ้นสุดลงในช่วงเที่ยงวันของวันรุ่งขึ้น ในการชุมนุมครั้งนี้ยังคงมีการทำพิธีสถาปนาธงพรรคและมีเพียงสมาชิกหน่วยเอสเอเท่านั้นที่เข้าร่วมชุมนุมฮิตเลอร์ได้เสนอแนวทางการปรับโครงสร้างองค์การพรรคให้เข้มแข็งและการเตรียมการดำเนินงานทางการเมืองเพื่อให้พรรคมีบทบาทและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ทั้งเป็นครั้งแรกที่เขาเรียกชื่อการชุมนุมว่าเป็น "วันพรรค" (Parteitag - party day) โยเซฟ เพาล์ เกิบเบิลส์ (Joseph Paul Goebbels)* มีบทบาทสำคัญในการชุมนุมครั้งนี้ เพราะเขากล่าวสุนทรพจน์สดุดีฮิตเลอร์และเสนอแนวทางเคลื่อนไหวที่จะโน้มน้าวจูงใจเยาวชน กรรมกรและผู้หญิงให้เข้าเป็นสมาชิกพรรค ฮิตเลอร์ประทับใจเขามากและต่อมาแต่งตั้งเกิบเบิลส์เป็นข้าหลวงเขต (gauleiter) ประจำกรุงเบอร์ลิน
     เมื่อฮิตเลอร์พ้นโทษจากการถูกห้ามกล่าวคำปราศรัยในรัฐบาวาเรียและแซกโซนีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๗ พรรคนาซีได้จัดชุมนุมใหญ่ครั้งแรกโดยชี้แนะเรื่องการสร้างความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติและแนวทางการเตรียมการเลือกตั้งสภาไรค์ชตาก (Reichstag) ที่กำหนดขึ้นในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๘ ในการชุมนุมครั้งนี้มีการทำพิธีสถาปนาธงอย่างเปิดเผยและจุดเด่นของการชุมนุมคือขบวนพาเหรดคบเพลิงตามถนนซึ่งสร้างในสมัยกลางของเมืองเข้าสู่ลานชุมนุมเพื่อเคารพผู้นำ ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* มีบทบาทสำคัญในการจัดชุมนุมครั้งนี้และเป็นที่ ประจักษ์แก่สมาชิกพรรคว่าเขาคือมือขวาคนสำคัญของฮิตเลอร์ หลังการชุมนุมครั้งนี้จำนวนสมาชิกพรรคนาซีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก ๒๕,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๒๕ เป็น ๑๐๐,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๒๘ และเกือบ ๑๘๐,๐๐๐ คนใน ค.ศ. ๑๙๓๐ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจยังคงเติบโตก็ทำให้พรรคนาซียังคงไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป ในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๘ พรรคนาซีได้เสียงเพียง ๑๒ ที่นั่งเท่านั้นในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญได้ ๕๓ ที่นั่งและยังคงเป็นที่ยอมรับของประชาชน
     ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ พรรคนาซีจัดชุมนุมใหญ่ครั้งที่ ๔ ขึ้นอย่างมโหฬารและตระการตาเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ ๒-๕ สิงหาคม อาคารสถานที่สำคัญทั่วเมืองนูเรมเบิร์กโดยเฉพาะศูนย์วัฒนธรรม (Kulturvereinhaus - House of Culture) ถูกกำหนดให้ใช้เป็นที่ประชุมในวันเปิดประชุมผู้แทนพรรคกว่า ๒,๐๐๐ คนรวมตัวกันฟังคำปราศรัยของชไตรเชอร์ เกิบเบิลส์ และฮิตเลอร์ ในวันต่อมา มวลชนกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีกรรมของพรรคซึ่งประกอบด้วยการบรรเลงเพลงของริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) นักประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียงของประเทศ การเดินสวนสนามและการแปรขบวนของนักกีฬาที่ชูคบเพลิงเป็นรูปเครื่องหมายสวัสดิกะ ตลอดจนสุนทรพจน์ที่เร้าใจของฮิตเลอร์เกือบ ๒ ชั่วโมงรวมทั้งการจุดพลุไฟที่งดงามและ น่าตื่นตาตื่นใจ ในวันสุดท้ายของการชุมนุมมีการทำพิธีสาบานธงพรรคซึ่งเป็นธงใหม่สีแดงที่เรียกว่า "ธงเลือด" (Blutfahne - Blood Banner) โดยผู้นำจะแตะด้ามธง และรวบผืนธงมาจุมพิตแล้วปล่อยให้ธงสะบัดออก การชุมนุมจบลงด้วยการเดินพาเหรดตามถนนสายต่าง ๆ ของเขตเมืองนูเรมเบิร์กเก่า หลังการชุมนุมครั้งนี้ พรรค นาซีเริ่มได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะชาวเยอรมันที่ตกงานและสิ้นหวังกับอนาคตหันมาสนับสนุนพรรคนาซีที่ ชูประเด็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและโจมตีสนธิสัญญาแวร์ซาย ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๐ พรรคนาซีก็ได้รับเลือกเข้าสู่สภามากที่สุดเป็นอันดับ ๒ รองจากพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party - SPD)* โดยได้เสียงถึง ๑๐๗ ที่นั่งอีก ๓ ปีต่อมา ฮิตเลอร์ก็ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓
     หลังการก้าวสู่อำนาจของฮิตเลอร์ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ พรรคนาซีจัดชุมนุมใหญ่ครั้งที่ ๕ ที่เมืองนูเรมเบิร์กระหว่างวันที่ ๓๑ สิงหาคม - ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๓ และเรียกการชุมนุมครั้งนี้ว่า "การชุมนุมแห่งชัยชนะ" เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะทางการเมืองของฮิตเลอร์และความพ่ายแพ้ของระบอบสาธารณรัฐ มีการจัดเวทีปราศรัยที่จุผู้คนกว่า ๖๐๐,๐๐๐ คนเพื่อฟังสุนทรพจน์ของผู้นำและแกนนำคนสำคัญ ๆ ของพรรค มีการเดินพาเหรดของกองทัพนาซีและองค์การพรรคต่าง ๆ รวมทั้งการจุดพลุไฟและการแปรขบวนที่งดงามและใหญ่โตในช่วงการทำพิธีสาบานธง แอนสท์ เริม (Ernst Rohm)* หัวหน้าหน่วยเอสเอได้กล่าวรายชื่อยาวเหยียดของสมาชิกพรรคนาซีที่สูญเสียชีวิตเพื่อแสดงความเคารพและอาลัย ในวันสุดท้ายของการชุมนุมซึ่งมีพิธีปิดอย่างยิ่งใหญ่ ฮิตเลอร์ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่เร้าใจโจมตีศัตรูของพรรคนาซีและให้สัญญาที่จะสร้างชุมชนแห่งเชื้อชาติ (racial community) ที่จะหลอมรวมประชาชาติเยอรมันเข้าด้วยกันตลอดจนการจะฟื้นฟูชาติขึ้นใหม่ด้วยการเน้นคุณค่าของสถาบันครอบครัวและหลักจริยธรรมของคริสเตียน หลังการชุมนุมครั้งนี้ พรรคนาซีได้เริ่มจัดทำหนังสือประจำปีเผยแพร่ขึ้นเป็นครั้งแรกที่เรียกกันทั่วไปในเวลาต่อมาว่า "หนังสือปกน้ำเงิน" (Blue Book) เนื่องจากปกเป็นสีน้ำเงิน แต่เล่มที่มีจำนวนจำกัดใช้ปกสี แดงเข้ม หนังสือประจำปีนี้จะรวบรวมรูปภาพที่เด่นๆ และสวยงามของการชุมนุม รวมทั้งสุนทรพจน์และคำปราศรัยของฮิตเลอร์และแกนนำพรรคนาซีทุกคนในการชุมนุม หนังสือประจำปีดังกล่าวในเวลาต่อมากลายเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ในการศึกษาเกี่ยวกับจักรวรรดิไรค์ที่ ๓
     หลังการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองและทอนอำนาจของหน่วยเอสเอในเหตุการณ์คืนแห่งมีดยาว (Night of the Long Knives)* ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิตเลอร์ มีอำนาจที่เข้มแข็งมากขึ้นและเขาเริ่มดำเนินการรวมพรรคนาซีเข้ากับรัฐบาลเยอรมัน ในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๔ พรรคนาซีจัดการชุมนุมใหญ่ที่ เมืองนูเรมเบิร์กระหว่างวันที่ ๓-๑๐ กันยายน รวม ๑ สัปดาห์ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดชุมนุมยาวนาน เกิบเบิลส์ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงภูมิปัญญาสาธารณชนและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Ministry for Public Enlightenment and Propaganda) มอบหมายให้อัลแบร์ท ชเปร์ (Albert Speer)* สถาปนิกและนักวางผังเมืองที่ ฮิตเลอร์ชื่นชมเป็นผู้ออกแบบสถานที่ชุมนุมให้ดูยิ่งใหญ่และงดงาม ในวันเปิดการชุมนุม ฮิตเลอร์เดินทางมาถึงสถานที่ชุมนุมซึ่งบรรจุคน ๓๐๐,๐๐๐ คนด้วยเครื่องบินทันทีที่เขาก้าวออกจากเครื่องบิน ขบวนแถวขององค์การต่าง ๆ ของพรรคนาซีก็แปรขบวนเป็นเครื่องหมายสวัสดิกะพร้อมกับชูคบเพลิงโชติช่วงซึ่งทำให้นักข่าวต่าง ประเทศรายงานว่านูเรมเบิร์กได้กลายเป็นนครแห่งแสงสว่าง (city of light) โดยทันที ขณะเดียวกันริ้วขบวนธง ๒๑,๐๐๐ ผืนก็โบกสะบัดต้อนรับผู้นำท่ามกลางเสียง กระหึ่มก้องของเพลงบรรเลงของวากเนอร์ เป็นการเปิดงานที่ยิ่งใหญ่และน่าประทับใจ แนวความคิดหลักของการชุมนุมครั้งนี้คือการเน้นบทบาทของฮิตเลอร์ในฐานะผู้กอบกู้ (savior) และการแสดงพลังของชาวเยอรมันโดย "นาซี เพื่อนาซี และเกี่ยวกับนาซี" (by Nazis, for Nazis, and about Nazis) ฮิตเลอร์ให้ เลนี รีเฟนชตาล (Leni Riefenstahl)* ดาราสาวและนักสร้างภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงบันทึกภาพการชุมนุมใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เป็นภาพยนตร์สารคดีซึ่งให้ชื่อว่า Triumph of Will ภาพยนตร์เรื่องนี้ฮิตเลอร์ร่วมอำนวยการสร้างและกำกับด้วยและเป็นภาพยนตร์ที่ได้ชื่อว่าเป็นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อที่โดดเด่นเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ แนวคิดหลักของภาพยนตร์คือการชี้ให้เห็นการหวนคืนสู่ความเป็นชาติมหาอำนาจของเยอรมนีโดยฮิตเลอร์เป็นเสมือนพระเมสสิยาห์ (Messiah) หรือผู้ปลดปล่อยที่จะนำความรุ่งเรืองมาสู่ประเทศการชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์ก ค.ศ. ๑๙๓๔ ในเวลาต่อมา จึงได้ชื่อตามภาพยนตร์ของเลนีว่า "การชุมนุมแห่งเอกภาพและความแข็งแกร่ง" (Rally of Unity and Strength) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "การชุมนุมแห่งอำนาจ" (Rally of Power)
     ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ พรรคนาซีจัดประชุมพิเศษของสภาไรค์ชตากและการชุมนุมประจำปีของพรรคเข้าด้วยกันที่เมืองนูเรมเบิร์กในเดือนกันยายน ในการประชุมครั้งนี้ ฮิตเลอร์ต้องกล่าวสุนทรพจน์ว่าด้วยนโยบายต่างประเทศที่เกี่ยวกับองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* และพรรคฟาสซิสต์อิตาลีให้แก่คณะผู้แทน ทางการทูตที่เข้าร่วมในงานชุมนุมพรรค แต่เนื่องจากมีการปรับกำหนดการ ฮิตเลอร์จึงเปลี่ยนหัวข้อการปราศรัยใหม่เป็นเรื่อง "ปัญหายิว" (Jewish Question) แทนตามคำแนะนำของแกนนำหน่วยเอสเอส (Schutzstaffel- SS)* หัวรุนแรงที่ต่อต้านยิว สุนทรพจน์ของฮิตเลอร์จึงกลายเป็นเนื้อหาของร่างกฎหมายซึ่งเรียกกันต่อมาว่า กฎหมายนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Laws)* หรือกฎหมายนูเรมเบิร์กเกตโต (Nuremberg Ghettos) รวม ๒ ฉบับ ฉบับแรกมีเนื้อหาว่าด้วยความเป็นพลเมืองและฉบับที่ ๒ ว่าด้วยการปกป้องสายเลือดและเกียรติภูมิเยอรมันในการชุมนุมประจำปีครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการแสดงแสนยานุภาพทางทหารด้วยขบวนพาเหรดของรถถังรุ่นใหม่ ๆ รถหุ้มเกราะ อากาศยาน และอื่น ๆ การแสดงแสนยานุภาพทางทหารจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมในการชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์กนอกไปจากการสวนสนาม  การแปรขบวน และการแสดงที่ปลุกเร้าความรักชาติและศรัทธาในผู้นำ การชุมนุมที่ เมืองนูเรมเบิร์ก ค.ศ. ๑๙๓๕ มีชื่อเรียกว่า "การชุมนุมแห่งเสรีภาพ" (Rally of Freedom) ซึ่งหมายถึงชัยชนะของการติดอาวุธของเยอรมนีและการบังคับใช้การเกณฑ์ทหารขึ้นใหม่ตลอดจนการ"ปลดปล่อย" เยอรมนีจากสนธิสัญญาแวร์ซาย
     ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ การชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์กมีชื่อเรียกว่า "การชุมนุมแห่งเกียรติยศ" (Rally of Honor) เพราะเยอรมนีสามารถกอบกู้เกียรติและศักดิ์ศรีที่ถูกย่ำยีกลับคืนด้วยการส่งกองทหารเข้ายึดครองไรน์แลนด์ (Rhineland) ซึ่งเป็นเขตปลอดทหารตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาแวร์ซายได้โดยประเทศมหาอำนาจตะวันตกไม่ขัดขวางทั้งเป็นการละเมิดข้อตกลงของสนธิสัญญาโลคาร์โน (Treaty of Locarno)* ในการชุมนุมพรรคนาซีครั้งนี้มีสมาชิกพรรค ๒๕๐,๐๐๐ คน และมวลชนกว่า ๗๐,๐๐๐ คน เข้าร่วม และฮิตเลอร์ประกาศว่าจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich) จะยืนยาวถึง ๑,๐๐๐ ปี
     ในการชุมนุมเดือนกันยายนปีต่อมาซึ่งเรียกชื่อว่า "การชุมนุมของแรงงาน" (Rally of Labor) หลังการชุมนุมครั้งนี้ฮิตเลอร์จัดประชุมลับที่กรุงเบอร์ลินร่วมกับแกนนำของกองทัพและคอนสตันติน ฟอน นอยรัท (Konstantin von Neurath)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์และแนวนโยบายต่างประเทศของเยอรมนี บันทึกการประชุมลับครั้งสำคัญนี้ซึ่งเรียกกันต่อมาว่าบันทึกช่วยจำฮอสบัค (Hossbach Memorandum)* ได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญของฝ่ายพันธมิตรในช่วงหลังสงครามในการกล่าวโทษฮิตเลอร์และเหล่าผู้นำกองทัพของเยอรมนีด้วยข้อหาวางแผนก่อสงครามที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)*
     หลังการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ ฮิตเลอร์สนับสนุนให้ชาวเยอรมันที่นิยมนาซีในซูเดเทนลันด (Sudetenland)* ซึ่งเป็นดินแดนทางตอนเหนือของ เชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* ก่อการเคลื่อนไหวเพื่อรวมเข้ากับเยอรมนี วิกฤตการณ์ในเชโกสโลวะเกียทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อตำรวจเช็กยิงทหารซูเดเทนเยอรมัน ๒ คนเสียชีวิต เยอรมนีประโคมข่าวเกี่ยวกับความทารุณโหดร้ายในซูเดเทนลันด์และแสดงท่าทีที่จะเข้าไปแทรกแซง ขณะเดียวกันฮิตเลอร์ก็ให้เตรียมกำลังทหารที่จะเข้ายึดแคว้นโบฮีเมีย (Bohemia) และโมเรเวีย (Moravia) ของเชโกสโลวะเกียอังกฤษพยายามไกล่เกลี่ยโดยโน้มน้าวให้เอดูอาร์ด เบเนช (Eduard Benes)* ประธานาธิบดีเชโกสโลวะเกียเปิดการเจรจากับเยอรมนีแต่ประสบกับความล้มเหลว ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองในเชโกสโลวะเกียกำลังเขม็งเกลียวและส่อเค้า การเกิดสงคราม พรรคนาซีก็จัดชุมนุมประจำปีที่เมืองนูเรมเบิร์กระหว่างวันที่ ๕-๑๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ ซึ่งนับเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดและเป็นครั้งสุดท้ายโดยมีชื่อว่า "การชุมนุมของเยอรมนีใหญ่" (Rally of Greater Germany) ตลอดช่วงการชุมนุมแต่ละวันมีการประชุมในหัวข้อเรื่องต่าง ๆ ที่เนื้อหาเน้นการสร้างชาติเยอรมันที่ยิ่งใหญ่ และการสดุดียกย่องฮิตเลอร์ ขณะเดียวกันก็มีขบวนพาเหรด การสวนสนาม การแสดงและกิจกรรมที่หลากหลายของยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler Youth)* หน่วยเอสเอส สันนิบาตยุวนารีเยอรมัน (League of German Girls) และอื่น ๆ ประมาณกันว่ามีมวลชนและสมาชิกกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ คนเข้าร่วมในการชุมนุมครั้งนี้และมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศกว่า ๑,๐๐๐ คนจากทุกมุมโลกมาทำข่าว การชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์ก ค.ศ. ๑๙๓๘ ซึ่งชี้ให้เห็นพลังและความเชื่อมั่นของชาวเยอรมันต่อผู้นำยังมีส่วนทำให้อาร์เทอร์ เนวิลล์ เชมเบอร์เลน (Arthur Neville Chamberlain)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษตัดสินใจเดินทางไปเจรจากับฮิตเลอร์เรื่องซูเดเทนลันด์ถึง ๓ ครั้งภายในเวลา ๒ สัปดาห์และนำไปสู่ความตกลงมิวนิก (Munich Agreement)* ระหว่างวันที่ ๒๙-๓๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ โดยเยอรมนีได้ครอบครองซูเดเทนลันด์และสัญญาจะไม่รุกรานดินแดนส่วนที่เหลือของเชโกสโลวะเกีย
     ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ พรรคนาซีกำหนดจัดการชุมนุมประจำปีที่เมืองนูเรมเบิร์กในวันที่ ๑ กันยายน โดยเรียกชื่อว่า "การชุมนุมแห่งสันติภาพ" (Rally of Peace) เพื่อเน้นแนวความคิดการมุ่งสร้างสันติภาพของเยอรมนีต่อพลเมืองเยอรมันและนานาประเทศในยุโรป เนื่องจากก่อนหน้านั้นเยอรมนีได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตในกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Nonaggression Pact)* หรือที่เรียกกันว่ากติการิบเบนทรอฟ-โมโลตอฟ (Ribbentrop- Molotov Pact) เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ ซึ่งมีข้อตกลงลับเกี่ยวกับการแบ่งดินแดนโปแลนด์ระหว่างเยอรมนีกับโซเวียต กติกาสัญญาดังกล่าวสร้างความหวาดวิตกให้เกิดขึ้นทั่วยุโรป และอังกฤษซึ่งละทิ้งนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๙ จึงตอบโต้ทันทีด้วยการทำกติกาสัญญาอังกฤษ-โปแลนด์ (Anglo-Polish Pact) ในวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปลายเดือนสิงหาคม เยอรมนีสร้างสถานการณ์ด้วยการก่อการจลาจลบริเวณ พรมแดนโดยทหารหน่วยเอสเอสซึ่งแต่งเครื่องแบบทหารโปลบุกโจมตีสถานีวิทยุกระจายเสียงของเยอรมันที่เมืองกลิวีตเซ [Gliwice -ไกลวิทซ์ (Gleiwitz)] ซึ่งห่าง จากพรมแดนโปแลนด์ประมาณ ๘ กิโลเมตร การโจมตีเกิดขึ้นในขณะที่สถานีวิทยุกำลังออกอากาศและมีการนำศพจากค่ายกักกันที่แต่งเครื่องแบบทหารเยอรมันมาทิ้งไว้ในบริเวณเกิดเหตุ ฮิตเลอร์จึงใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้างบุกโจมตีโปแลนด์ เขาสั่งยกเลิกการชุมนุมที่นูเรมเบิร์กอย่างกะทันหันก่อนการชุมนุม ๑ วันในเช้าตรู่ของวันที่ ๑ กันยายนซึ่งเดิมเป็นวันกำหนดเปิดการชุมนุมที่นูเรมเบิร์ก กองทหารเยอรมันได้เคลื่อนกำลังบุกโปแลนด์ ซึ่งเป็นชนวนนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ และทำให้ไม่มีการชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์กอีกต่อไป.



คำตั้ง
Nuremberg Rallies
คำเทียบ
การชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์ก
คำสำคัญ
- โบฮีเมีย, แคว้น
- เบเนช, เอดูอาร์ด
- นโยบายเอาใจอักษะประเทศ
- เชมเบอร์เลน, อาร์เทอร์ เนวิลล์
- การชุมนุมของเยอรมนีใหญ่
- ไกลวิทซ์
- ความตกลงมิวนิก
- กลิวีตเซ, เมือง
- กติกาสัญญาอังกฤษ-โปแลนด์
- กติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ
- กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต
- องค์การสันนิบาตชาติ
- กองกำลังอิสระ
- การชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์ก
- การชุมนุมแห่งชัยชนะ
- การประชุมใหญ่พรรคแห่งชาติของประชาชนเยอรมัน
- เนือร์นแบร์ก
- ชเตรเซมันน์, กุสทาฟ
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี
- ฟือเรอร์
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สาธารณรัฐไวมาร์
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ความคิดต่อต้านชาวยิว
- ชไตรเชอร์, ยูลีอุส
- เยอรมัน, จักรวรรดิ
- ทูรินเจีย
- โรมันอันศักดิ์สิทธิ์, จักรวรรดิ
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- ลูเดนดอร์ฟ, เอริช ฟอน
- หน่วยเอสเอ
- กบฏโรงเบียร์
- กบฏที่เมืองมิวนิก
- เกิบเบิลส์, โยเซฟ เพาล์
- วากเนอร์, ริชาร์ด
- ไวมาร์, เมือง
- คืนแห่งมีดยาว
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- สภาไรค์ชตาก
- ชเปร์, อัลแบร์ท
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
- เริม, แอนสท์
- รีเฟนชตาล, เลนี
- กฎหมายนูเรมเบิร์กเกตโต
- กฎหมายนูเรมเบิร์ก
- การชุมนุมของแรงงาน
- การชุมนุมแห่งเกียรติยศ
- ยุวชนฮิตเลอร์
- โมเรเวีย
- สันนิบาตยุวนารีเยอรมัน
- การชุมนุมแห่งเสรีภาพ
- การชุมนุมแห่งอำนาจ
- การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
- เชโกสโลวะเกีย
- ซูเดเทนลันด์
- นอยรัท, คอนสตันติน ไฟรแฮร์ ฟอน
- บันทึกช่วยจำฮอสบัค
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- ไรค์ที่ ๓, จักรวรรดิ
- สนธิสัญญาโลคาร์โน
- หน่วยเอสเอส
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf